Please use this identifier to cite or link to this item: http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/79519
Title: ผลของธาตุอาหารพืชต่อการเจริญเติบโตของทิวลิปในระบบไฮโดรโพนิกส์
Other Titles: Effects of plant nutrition on growth and development of Tulip in hydroponic system
Authors: วีระศักดิ์ วิชาเป็ง
Authors: โสระยา ร่วมรังษี
กนกวรรณ ปัญจะมา
ชัยอาทิตย์ อิ่นคำ
วีระศักดิ์ วิชาเป็ง
Keywords: Nutrient solution;ระบบไฮโดรโพนิกส์;ธาตุอาหารพืช
Issue Date: 5-Jan-2567
Publisher: เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract: การศึกษาผลของธาตุอาหารพืชต่อการเจริญเติบโตของทิวลิปในระบบไฮโดรโพนิกส์ แบ่งการทดลองออกเป็น 2 การทดลอง ได้แก่ การทดลองที่ 1 ผลของการขาดธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็กและโบรอน ต่อการเจริญเติบโตของทิวลิป โดยใช้หัวทิวลิปพันธุ์ ‘Orange Juice’ ที่มีขนาดของ เส้นรอบวงเฉลี่ย 12 เซนติเมตร นำไปบังคับให้ออกรากที่อุณหภูมิ 9 องศาเซลเซียส นาน 2 สัปดาห์ ก่อนปลูกในระบบไฮโดรโพนิกส์โดยใช้กระถาง 2 ชั้น ในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เฉลี่ย 20±2 องศาเซลเซียส ความเข้มแสงเฉลี่ย 442 ไมโครโมลต่อตารางเมตรต่อวินาที ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ จำนวน 9 กรรมวิธี 4 ซ้ำต่อกรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 ให้พืชได้รับเพียงน้ำที่กำจัดประจุออก (deionized water) กรรมวิธีที่ 2 กรรมวิธีควบคุม ให้พืชได้รับสารละลายธาตุอาหารตามสูตรของ Hoagland and Arnon (1950) กรรมวิธีที่ 3 ถึง 9 ให้พืชได้รับสารละลายที่ขาดธาตุไนโตรเจน (-N) ฟอสฟอรัส (-P) โพแทสเซียม (-K) แคลเซียม (-Ca) แมกนีเซียม (-Mg) โบรอน (-B) และเหล็ก (-Fe) ตามลำดับ ส่วนธาตุที่จำเป็นอื่น ๆ ให้พืชได้รับในปริมาณที่เท่ากัน จากนั้นทำการเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต การสังเคราะห์แสง คุณภาพดอก และคุณภาพหัวใหม่ ผลการทดลองพบว่าเมื่อสัปดาห์ที่ 4 หลังย้ายปลูก กรรมวิธีที่พืชได้รับสารละลายธาตุอาหารที่ขาดธาตุแคลเซียม พืชมีความยาวรากน้อยกว่ากรรมวิธีอื่นๆ แต่ไม่มีความแตกต่างกับกรรมวิธีที่ปลูกในน้ำที่กำจัดประจุออก ในด้านพื้นที่ใบและน้ำหนักสดทุกกรรมวิธีไม่แตกต่างกัน ส่วนกรรมวิธีที่ขาดแมกนีเซียมมีอัตราการสังเคราะห์แสงต่ำที่สุด ในด้านของคุณภาพดอกพบว่ากรรมวิธีที่พืชได้รับเพียงน้ำที่กำจัดประจุออกและสารละลายธาตุอาหารที่ขาดธาตุแคลเซียมมีระยะเวลาบานดอกต่ำที่สุด ซึ่งเกิดจากทั้งสองกรรมวิธีทำให้พืชแสดงอาการก้านดอกล้มร้อยละ 58 และ 42 ตามลำดับ และอาการดอกแท้งที่ร้อยละ 17 และ 8 ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบอาการดอกแท้งในกรรมวิธีที่ขาดธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนที่ร้อยละ 17 และ 8 ตามลำดับ การทดลองที่ 2 ผลของระดับความเข้มข้นของสูตรสารละลายธาตุอาหารต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพดอกของทิวลิป ดำเนินการโดยปลูกหัวทิวลิปพันธุ์ ‘Orange Juice’ ขนาดเส้นรอบวงเฉลี่ย 12 เซนติเมตร ในระบบไฮโดรโพนิกส์ดำเนินการเช่นเดียวกับการทดลองที่ 1 วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ โดยให้พืชได้รับสารละลายธาตุอาหารที่มีค่าความเข้มข้น (EC) ที่ 0, 1.0, 1.5, 2.0 และ 2.5 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร กรรมวิธีละ 4 ซ้ำ จากนั้นทำการเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต การสังเคราะห์แสง คุณภาพดอก และคุณภาพหัวใหม่ ผลการทดลองพบว่า ทุกกรรมวิธีให้ผลของจำนวนวันที่ดอกบานและเส้นผ่านศูนย์กลางก้านดอกไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามกรรมวิธีที่พืชได้รับความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารที่มีค่า EC 0, 1.0, 1.5 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร มีอัตราการสังเคราะห์แสงและอัตราการคายน้ำไม่แตกต่างกัน ส่วนในความเข้มข้นที่มีค่า EC 2.0 และ 2.5 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ทำให้ความสูงต้น น้ำหนักสด ความยาวก้านดอก อัตราการสังเคราะห์แสงและอัตราการคายน้ำของทิวลิปลดลง แต่น้ำหนักสดหัวใหม่ เส้นรอบวงหัวใหม่ และจำนวนหัวใหม่ไม่แตกต่างกัน ทิวลิปที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหารที่มีค่า EC 0 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร พบอาการ ก้านดอกล้มสูงถึงร้อยละ 66.6 ในขณะที่กรรมวิธีที่ได้รับสารละลายธาตุอาหารค่า EC 2.5 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร พบอาการดอกแท้งร้อยละ 22.2
URI: http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/79519
Appears in Collections:AGRI: Theses

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
630831019-วีระศักดิ์ วิชาเป็ง.pdf2.26 MBAdobe PDFView/Open    Request a copy


Items in CMUIR are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.